fbpx

6 ดิจิทัลสกิล ที่ช่วยให้คุณ “ยืนหนึ่ง” ในโลกธุรกิจ

หากจะนึกย้อนไปถึงประมาณ 10-20 ปีที่แล้ว ความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ทันสมัยอาจจะเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องแปลกใหม่ที่บุคลากรในองค์กรต้องเริ่มศึกษาเรียนรู้ และมีเพียงไม่กี่คนในองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญมากเพียงพอที่จะนำเอามาใช้ในการปฎิบัติงานได้จริง แต่เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและวัฒนธรรมการทำงานอย่างเช่นในปัจจุบัน การมีบุคลากรที่มี “ดิจิทัลสกิล” (ทักษะทางด้านดิจิทัล) องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพจึงเป็นกุญแจสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจ

ท่ามกลางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาตลอดเวลา หลายตัวได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากสื่อ ศัพท์แปลก ๆ ในวงการที่เปิดตัวให้ทำความรู้จักอยู่เสมอ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าองค์กรของคุณควรทุ่มเททุนทรัพย์และเวลาเพื่อพัฒนาบุคลากรในด้านใดบ้าง? ICDL จึงหยิบยกเอา ดิจิทัลสกิล ที่จำเป็นสำหรับบุคลากรของบริษัท “ตัวท็อป” ที่จะช่วยให้คุณยืนหนึ่งในโลกของธุรกิจมาพูดคุยกัน

1. การวิเคราห์ข้อมูลขั้นแอดวานซ์ (Expert Data Analysis)

ยุคสมัยแห่งเทคโนโลยี Big Data ส่งผลให้หลายบริษัทตกอยู่ท่ามกลางกองข้อมูลที่อาจไม่เคยได้ใช้ประโยชน์เลยแม้แต่น้อย

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลกำลังรุดหน้าไปเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บไว้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน การรู้ว่าจะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้เป็นประโยชน์ได้อย่างไรถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจและอนาคตที่จะมาถึง บริษัทของคุณจึงควรมีบุคลากรที่สามารถดึงเอาชุดข้อมูลออกมาวิเคราะห์และตีความหมายให้เป็นประโยชน์ได้ การวิเคราะห์ข้อมูลหากสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้คุณเข้าใจธุรกิจและความต้องการของลูกค้าในเชิงลึก ซึ่งสามารถนำไปจัดการแคมเปญและเนื้อหาที่นำเสนอได้

2. การขายผ่านโซเชียลมีเดียด้วยการสร้างความสัมพันธ์ (Advance Social Selling)

ทีมขายสินค้าและบริการต้องปรับตัวเมื่อโซเชียลมีเดียเติบโตอย่างเต็มที่พร้อมจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น โดยเทรนด์การขายได้เปลี่ยนมาเป็นแบบ Value-Based หรือการขายแบบเน้นคุณค่าของสินค้าหรือบริการเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งหัวใจของการขายแบบ Value-Based คือความเชื่อใจ สามารถประกอบสร้างผ่านโซเชียลมีเดียได้ด้วยเนื้อหาและการพูดถึงบทแพลตฟอร์มเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่มีความหมายลึกซึ้งกับลูกค้า

จากรายงานการขายของ LinkedIn (2018) พบว่า 77% ของผู้ซื้อจะเปิดอ่านรายละเอียดของบริษัทก่อนที่มีปฏิสัมพันธ์กับกับการซื้อสินค้าหรือบริการในลำดับต่อไป และ 80% ของผู้ซื้อเปิดดูเนื้อหามากกว่า 5 ชิ้นก่อนการกดซื้อจริง แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเนื้อหาคุณภาพบนโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับบริษัทและสินค้าหรือบริการนั้นจำเป็นต่อการขาย บริษัทของคุณจึงต้องการบุคลากรที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์เนื้อหาคุณภาพบนโซเชียลมีเดียเพื่อส่งเสริมให้เกิดการซื้อการขาย และรายได้เข้าบริษัท

3. การสื่อสารการตลาดบนสมาร์ทโฟน (Mobile Expertise)

ทุกวันนี้สมาร์ทโฟนกลายเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงโลกออนไลน์ของผู้บริโภคมากกว่าคอมพิวเตอร์ส่วนตัวเสียอีก และภายในปี 2020 นี้ เจเนอเรชัน Z จะกลายมาเป็นผู้ใช้สูงถึง 40% ของจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมด องค์กรธุรกิจจึงต้องหันมาปรับตัวให้อยู่รอดด้วยการสื่อสาร สร้างสรรค์เนื้อหา และวางแผนการเดินทางผู้บริโภค (Customer Journey) ผ่านทางโทรศัพท์สมาร์ทโฟนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้คุณสามารถขายสินค้าและเข้าถึงผู้บริโภคเจเนอเรชันใหม่ได้ดียิ่งขึ้น

ธุรกิจของคุณจึงควรมีคนที่มีทักษะการสื่อสารการตลาดผ่านสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นการ optimize วิดีโอให้เหมาะสมสำหรับรับชมผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ การสื่อสารผ่านรูปภาพหน้าปก การตั้งชื่อคลิป หรือแม้กระทั่งการอัปเดตแอปพลิเคชันให้ตอบสนองตามผู้บริโภค ไม่ตกเทรนด์ สามารถหาเจอและใช้งานได้ง่ายบนสมาร์ทโฟน เป็นต้น

4. การออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้งานหลายแพลตฟอร์ม (Multi-Platform UX Design)

ผู้บริโภคในปัจจุบันมีพฤติกรรมใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น แต่สลับเครื่องมือและช่องทางการเข้าถึง ธุรกิจของคุณจึงควรมีตัวตนอยู่บนโลกดิจิทัลในหลายช่องทาง โดยควรทำเว็บไซต์และแอปพลิเคชันให้สามารถตอบสนองได้ในหลายเครื่องมือ (Responsive) และทำให้แน่ใจว่าสามารถใช้งานได้ง่ายผ่านการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน (UX) เพราะกว่า 79% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตยอมรับว่า หากพวกเขาไม่สามารถใช้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันได้อย่างสะดวกก็จะค้นหาเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันอื่นเพื่อใช้งานต่อไป การลงทุนในทักษะด้านการออกแบบ UX ของบุคลากรจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

5. การปกป้องเครือข่ายและข้อมูล (Network and Information Security)

การปกป้องเครือข่ายและข้อมูลอาจดูเหมือนไม่ได้ช่วยพัฒนาธุรกิจของคุณให้ก้าวหน้าสักเท่าไหร่ แต่เป็นสกิลที่สำคัญที่สุดสกิลหนึ่งของการทำธุรกิจเลยก็ว่าได้

ความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์กลายเป็นประเด็นใหญ่และจะคงเป็นอยู่ในอนาคตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลที่ยังคงดำเนินต่อไป การทำให้แน่ใจว่าข้อมูลได้รับการปกป้องและเป็นความลับจึงเป็นสิ่งที่ธุรกิจควรให้ความสำคัญมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ยิ่งในปัจจุบันที่ทุกอย่างเชื่อมต่อถึงกันได้หมด แม้แต่การใช้งานโซเชียลมีเดียของพนักงานในออฟฟิศที่ไม่ได้รับการป้องกันอย่างเหมาะสมก็อาจเป็นจุดเสี่ยงที่ทำให้ข้อมูลของคุณรั่วไหลและเกิดความเสียหายต่อธุรกิจ ดังนั้นการมีบุคลากรที่มีทักษะหรือความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัยและการปกป้องข้อมูลบนโลกออนไลน์จะช่วยให้ธุรกิจและข้อมูลอ่อนไหวต่าง ๆ ของบริษัทปลอดภัยจากสายตาที่คอยสอดส่องและเรื่องอื้อฉาว

6. การคิดอย่างสร้างสรรค์ (Creative Thinking)

ด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยียุคดิจิทัล จาก 6 ใน 10 ของอาชีพทั้งหมด การปฎิบัติงานกิจวัตรกว่า 30% กลายเป็นระบบหุ่นยนต์หรือโปรแกรมอัตโนมัติเข้ามาแทนที่แรงงานฝีมือ เนื่องจากมีต้นทุนต่ำกว่าในระยะยาว แม่นยำ และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (หรืออาจมากกว่ามนุษย์เสียอีก) “การคิดอย่างสร้างสรรค์” ยังคงเป็นสิ่งที่เครื่องจักรกลไม่สามารถเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้ ดังนั้นธุรกิจจึงควรส่งเสริมให้บุคลากรมีทักษะความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์  และมีอำนวจควบคุมอยู่เหนือเครื่องมือในยุคดิจิทัล ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อนำเครื่องมือเหล่านี้ไปปรับประยุกต์ใช้กับการทำงาน

การส่งเสริมให้บุคลากรในบริษัทมีดิจิทัลสกิลในระดับที่สูงขึ้นเปรียบเสมือนการลงทุนในระยะยาวเพื่อความสำเร็จ ในทางกลับกัน ใครที่อยากได้โอกาสในการทำงานและค่าตอบแทนที่สูงขึ้นก็ควรพิจารณาเรียนรู้ทักษะเหล่านี้เอาไว้ เพราะ #ตกงานอย่าตกใจ แค่มีดิจิทัลสกิลพร้อมใบรับรองก็อาจทำให้คุณได้งานที่ดีและเหมาะกับตัวคุณได้ไม่ยาก

About Post Author