fbpx

โซเชียลมีเดีย และ การปกป้องข้อมูลส่วนตัว

…โปรดแชร์ข้อมูลด้วยความระมัดระวัง…

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เครือข่ายโซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงประชากรทั่วโลกเข้าด้วยกัน สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และมีส่วนร่วมในเรื่องที่พวกเขาสนใจได้อย่างทันท่วงที ซึ่งนี่เป็นจุดเด่นด้านดีของเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่เสริมสร้างให้ผู้คนทั่วโลกเป็นประชากรที่แอคทีฟและมีความรอบรู้

โซเชียลมีเดียมักสามารถเข้าร่วมได้โดยปราศจากค่าใช้จ่าย แล้วแพลตฟอร์มเหล่านี้มีรายได้มาจากอะไรกัน? – พวกเขาเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานที่ถูกป้อนเข้าไป (ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ) และนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลผลเพื่อขายเป็น “โฆษณาแบบเจาะกลุ่มเป้าหมาย” ข้อมูลดังกล่าวรวมถึง User Generated Content เช่น รูปภาพ ข้อความ และการอัปเดตสเตตัส เพื่อนในวงสังคมของเรา การแชร์เนื้อหา โฆษณาที่คลิ๊ก เว็บไซต์ที่เข้าชม ฯลฯ แม้แต่เวลาและสถานที่ในการเข้าใช้งานโซเชียลมีเดียก็ถูกนำมาคิดคำนวณว่าผู้ใช้งานเป็นคนแบบใด และโฆษณาตัวไหนที่อาจเป็นที่สนใจ กล่าวในอีกนัยหนึ่งก็คือ เราเสียค่าบริการในการใช้งานโซเชียลมีเดียในรูปแบบของข้อมูลส่วนตัวนั่นเอง ข้อมูลส่วนตัวในที่นี้จึงกลายเป็น “สินค้า” เพราะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจผูกติดอยู่ด้วย

คุณจะปกป้องข้อมูลส่วนตัวได้อย่างไร?

ก่อนการใช้งานโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มคุณต้องกดยอมรับเงื่อนไขการให้บริการ ซึ่งมักอนุญาตให้ผู้ให้บริการสามารถนำเอาข้อมูลส่วนตัวของคุณไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจได้ แม้ว่าจะสามารถนำไปใช้ได้อย่างจำกัด คุณต้องยอมรับว่าการใช้งานโซเชียลมีเดียคือความเสี่ยงรูปแบบหนึ่งที่อาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวของคุณรั่วไหลได้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย คุณสามารถสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวของคุณจากผู้ไม่ประสงค์ดีได้ ดังนี้

  • ใช้ชื่อ account ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับชื่อทางกฎหมายของคุณ (ถูกแบนโดยบางโซเชียลมีเดีย)
  • ปรับแต่งความเป็นส่วนตัวของคุณให้จำกัดและเหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าคุณกำลังแชร์ข้อมูลถึงคนที่คุณต้องการเท่านั้น
  • ตั้งรหัสผ่านให้ยากเพื่อป้องกันการเจาะเข้าถึงบัญชี
  • Log out ทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน

นอกเหนือจากนั้น ความปลอดภัยทางข้อมูลส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับนโยบายและมาตรการด้านข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานของผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย ซึ่งคุณสามารถทราบได้จาก Term of Service นั่นเอง

เสียเวลาสักนิด อ่าน Term of Service

จากกรณีการนำเอาข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในทางไม่ชอบ สหภาพยุโรปจึงออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล General Data Protection Regulation (GDPR) เพื่อให้ทันยุคสมัย เป็นผลให้ปัจจุบันโซเชียลมีเดียทั่วโลกต่างมีมาตรการการจัดการและระบบเพื่อปกป้องข้อมูลอยู่แล้ว แต่สิ่งที่คุณควรทำคืออ่านรายละเอียด Term of Service ของโซเชียลมีเดียนั้น ๆ รวมถึงการกดตกลงเข้าร่วมแอปพลิเคชันหรือบริการต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลของคุณได้รับการปกป้องและมีความเป็นไปได้ที่จะรั่วไหลออกไปหรือถูกใช้ในทางที่อาจทำให้คุณเสียหายน้อยที่สุด ควรเลือกใช้งานโซเชียลมีเดียที่เขียนเกี่ยวกับนโยบายความปลอดภัยไว้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย นอกเหนือจากความกัดดันที่ได้รับจากสังคมรอบข้างว่าคุณควรเชื่อมต่อกับเพื่อนผ่านโซเชียลมีเดียดังกล่าว

สำหรับมาตรการที่โซเชียลมีเดียต่าง ๆ จะดำเนินการเพื่อรองรับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ของประเทศไทยเองที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 นี้ ยังคงต้องจับตามองกันต่อไป แต่ที่มั่นใจได้คือพ.ร.บ.ดังกล่าวจะเป็นหลักเกณฑ์ให้โซเชียลมีเดียที่สามารถใช้งานได้ในประเทศไทยมีแนวทางป้องกันข้อมูลและความเป็นส่วนตัวที่ดียิ่งขึ้น ช่วยให้เรามั่นใจได้มากขึ้นว่าข้อมูลส่วนตัวของเราจะได้รับการปกป้องอย่างดีที่สุด

About Post Author