เมื่อนึกถึงโซเชียลหรือสื่อสังคมออนไลน์ที่เราใช้กันเป็นประจำ คงหนีไม่พ้น Facebook และ Instagram ซึ่งเชื่อมโยงผู้คนจากทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกันผ่านข้อความ สถานะ ข่าวสาร รูปภาพ วิดีโอ ฯลฯ ในปัจจุบันทั้งสองแพลตฟอร์มมีเจ้าของรายเดียวกัน โดย Facebook มีผู้ใช้งานมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นประมาณ 2.27 พันล้านคนต่อเดือน และ Instagram ตามมาในอันดับที่ 3 มีผู้ใช้งานประมาณ 1 พันล้านคนต่อเดือน (มกราคม 2019) เมื่อคิดคำนวณจากสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลกโดยไม่นับรวมพวกแอปพลิเคชันสำหรับแชท โซเชียลมีเดียทั้งสองจึงเป็นช่องทางที่มีลูกค้ารวมตัวกันอยู่อย่างหนาแน่น และนับเป็น “ขุมทรัพย์” ของนักการตลาดออนไลน์สำหรับโอกาสในการยิงโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและสร้างแบรนด์เพื่อขายสินค้าหรือบริการ
ความเหมือนในความต่างระหว่าง Facebook และ Instagram
Facebook และ Instagram ดูผิวเผินแล้วอาจเป็นแพลตฟอร์มที่ดูแตกต่างกันด้วยรูปลักษณ์สีสันและ Branding แต่เนื่องจากในปัจจุบัน Instagram ถูก Facebook ซื้อไป ทั้งสองแพลตฟอร์มจึงมีความคล้ายคลึงกันมากในแง่ของระบบโครงสร้างของแอปพลิเคชัน และระบบการยิงโฆษณาต่าง ๆ โดยสามารถจำแนกได้ดังนี้
- การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทั้งสองจะถูกยิงโฆษณาใส่ตามลักษณะทางประชากรศาสตร์ เช่น เพศ อายุ การศึกษา ตลอดจนความสนใจ สถานที่ในปัจจุบัน และความเชื่อมโยงในรูปแบบอื่น ๆ
- โฆษณารูปแบบใหม่ ทั้ง Facebook และ Instagram เปิดตัวโฆษณาสอดแทรกอยู่ในเรื่องราวที่แบ่งบัน (Story) ซึ่งในฐานะแบรนด์คุณสามารถสร้าง Call-to-Action ให้ “เลื่อนขึ้น” เพื่อไปยังหน้าของสินค้าหรือ Landing Page ที่คุณตั้งไว้ นอกจากนั้นยังเพิ่มระบบการลงรูปภาพโฆษณาแบบ Carousel หรือม้าหมุนที่สามารถเลื่อนภาพดูได้อย่างลื่นไหลและสะอาดตา ช่วยน่าสนใจและง่ายต่อการเข้าถึงมากขึ้น
- อัลกอริทึม สิ่งที่ปรากฏขึ้นบน Feed หน้าแรกของ Facebook และ Instagram ต่างมีพื้นฐานมาจากตัวอัลกอริทึม (Algorithm) ที่ทำหน้าที่คัดสรรและจัดลำดับโพสต์ที่มีลักษณะเนื้อหาที่คาดว่าผู้ใช้งานจะชอบ โดยประเมินจากเนื้อหาที่ผู้ใช้งานมีปฏิสัมพันธ์ด้วยในอดีต
ออกแบบโฆษณาให้แมทช์กับแพลตฟอร์มที่ต่างกัน
พี่มาร์ค (Mark Zuckerberg) ได้เคยออกมากล่าวว่า ต้องการให้เฟซบุ๊กขึ้น Feed เกี่ยวกับเพื่อนและครอบครัวให้มากขึ้น แทนที่จะเห็นโพสต์จากของทางฝั่งแบรนด์ จากคำพูดนี้ดูเหมือนว่าการทำโฆษณาและแบรนด์แบบออแกนิค (โดยไม่เสียเงิน) คงเป็นการยาก เพราะแพลตฟอร์มดังกล่าวถูกเปลี่ยนไปเป็นแบบ “จ่ายเงินเพื่อให้มองเห็น” อย่างเต็มตัว อย่างไรก็ตาม คุณสามารถปรับปรุงโฆษณาของคุณให้มีประสิทธิภาพสูง ก่อนที่จะจ่ายเงินเพิ่มเติมเพื่อเสริมการมองเห็นได้ทั้งใน Facebook และ Instagram โดยต้องออกแบบและเลือกเนื้อหาให้มีความเหมาะสมกับช่องทาง ซึ่งมีความแตกต่างกัน
- เนื้อหา โดยทั่วไปเนื้อหาบน Facebook จะเป็นการให้ข้อมูล ข่าวสารและบทความเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังเป็นกระแส รวมไปถึงการอัปเดตต่าง ๆ จากครอบครัวและญาติมิตร ในขณะที่ Instagram มีเนื้อหาลักษณะเป็นภาพและวิดีโอที่มีความเป็นศิลปะมากกว่า จำพวกรูปถ่ายและวิดีโอที่มีแสงและสีสันสวยงาม
- การปฏิสัมพันธ์ (Engagement) ในแต่ละวันผู้ใช้ Facebook และ Instagram มีปฏิสัมพันธ์บนแพลตฟอร์มจำนวนมาก แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ผู้ติดตามบัญชีบน Instagram มีค่าเฉลี่ยของการปฏิสัมพันธ์มากกว่าผู้ติดตามบัญชีบน Facebook สูงถึง 58 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 4.21% โดยค่าการปฏิสัมพันธ์บน Instagram ขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้ติดตามบัญชี หากมีผู้ติดตามมากก็จะมีแนวโน้มการปฏิสัมพันธ์ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย นอกจากนั้น Instagram ไม่มีฟังก์ชันฟีลเตอร์เนื้อหาออกเหมือนบน Facebook ผู้ติดตามมีโอกาสเห็นเนื้อหาได้มากกว่า จึงเป็นสาเหตุให้ Instagram มีอัตรา Organic Reach หรือการเข้าถึงแบบออแกนิคมากกว่า Facebook ขณะที่ผู้ใช้งาน Facebook อาจมองไม่เห็นเนื้อหาที่คุณโพสต์เลยด้วยซ้ำ ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณจะยอมจ่ายเงิน
- ความคิดสร้างสรรค์ Facebook และ Instagram ล้วนมีลักษณะเป็นมิตรต่อผู้ใช้งานด้วยโครงสร้างและปุ่มกดที่สามารถใช้งานได้ง่าย แต่ยังมีความแตกต่างกันในแง่หน้าตาของแพลตฟอร์ม Instagram มีความมินิมอล Caption สั้นกระชับ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นรูปภาพและวิดีโอเกี่ยวกับไลฟสไตล์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือแบรนด์สินค้า ส่วน Facebook มีฟังก์ชันให้ใช้อย่างหลากหลายมากกว่าการ Like และ Comment โดยคุณสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตเนื้อหาออกมาได้อย่างเต็มที่ เพราะ Facebook สามารถปรับแต่งให้แมทช์กับเนื้อหาของคุณได้ง่าย
เลือกแพลตฟอร์มที่ใช่ในการโฆษณา
อ่าว…แล้วอย่างนี้คุณควรเลือกแพลตฟอร์มไหนในการลงโฆษณากันล่ะ?
จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นคงเห็นแล้วว่าทั้งสองแพลตฟอร์มต่างมีข้อดีและข้อเสียเป็นของตัวเอง ไม่มีแพลตฟอร์มไหนที่ดีหรือแย่กว่าไปเสียทั้งหมด Facebook มีผู้ใช้งานมากกว่าและเหมาะกับการทำการตลาดแบบตรงไปตรงมา (Direct Response Advertising) ส่วน Instagram มีกลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่ที่อายุน้อยกว่าและเหมาะกับการสร้างแบรนด์ (Brand Marketing) ผ่านการสร้างการรับรู้ผ่านสื่อที่เป็นศิลปะและมีความสวยงาม สิ่งที่คุณต้องพิจารณาถึงในขั้นต้นก็คือ วัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจ วัตถุประสงค์ของการโฆษณา กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และธุรกิจและสินค้าหรือบริการอยู่ในอุตสาหกรรมใด จึงจะทราบว่าแพลตฟอร์มไหนมีความเหมาะสมในการใช้งานมากกว่ากัน หรือคุณอาจทำโฆษณาผ่านทั้งสองแพลตฟอร์มได้เช่นกันหากจำเป็น แต่ก็อย่าลืมศึกษาวิจัยข้อมูลให้รอบคอบ และทดลองยิงโฆษณาก่อน เพื่อดูว่าแพลตฟอร์มและโฆษณารูปแบบไหนที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณ