โหดกว่าการทำ SEO ให้ติดหน้าแรก ก็คือการทำให้ติด Position 0
สาวก ICDL Digital Marketing คงคุ้นเคยกับคำว่า SEO หรือการทำให้หน้าเว็บไซต์ของคุณติดอันดับการเสิร์ชบน SERP (Search Engine Result Page) ของ Search Engine อย่างเช่น Google กันอยู่แล้ว เพื่อให้คนค้นหาเว็บไซต์เจอและกดคลิกเข้าชม โดยหลักการคร่าว ๆ ของ SEO ก็คือ เมื่อคุณสร้างเนื้อหาที่มี Keyword ขึ้นมาบนเว็บไซต์ของคุณแล้ว ระบบหุ่นยนต์ตัวจิ๋วที่เรียกว่า Bot หรือ Crawler ของโปรแกรมค้นหาจะคลานเข้าไปบนหน้าเว็บไซต์ของคุณเพื่อเก็บข้อมูล และอัลกอริทึมจะแสดงผลการค้นหาหน้าเว็บไซต์ที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีผู้ค้นหามากที่สุดแบบจัดลำดับ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการทำเนื้อหาบนเว็บไซต์เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ และ Content Marketing มีบทบาทต่อการทำ SEO บนเว็บไซต์ของคุณ
สมัยนี้ การทำให้หน้าเว็บไซต์สามารถติดอันดับบนหน้าแรกของการเสิร์ชนั้นอาจคงไม่เพียงพอ เพราะมีตำแหน่ง “Position 0” หรือสุดยอดของการแสดงผลการค้นหาโผล่ขึ้นมาบน Google แล้ว
Position 0 คืออะไร?
Position 0 หรือ “การแสดงผลตำแหน่งที่ 0” คือ การแสดงผลของการค้นหาตำแหน่งบนสุด ซึ่ง Google ประมวลผลแล้วว่าน่าจะตรงตามความต้องการอยากทราบของผู้ใช้งานมากที่สุด (ดูจากคีย์เวิร์ดที่ป้อนเข้าไปบนแพลตฟอร์ม) โดยมีลักษณะพิเศษยิ่งกว่าการแสดงผลอันดับแรกแบบปกติก็คือมี Feature Snippet ซึ่งแสดงรายละเอียดบางส่วนของเนื้อหาบนหน้าเว็บไซต์นั้น เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับข้อมูลมากขึ้นและเห็นว่าเว็บไซต์นั้นมีเนื้อหาตรงกับสิ่งที่ตนอยากรู้จริง ๆ
Featured Snippet สามารถแสดงผล Display ออกมาได้หลายแบบด้วยกัน คือ
- ย่อหน้าของข้อความที่เกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ด
- ลิสต์รายการที่ตรงกับสิ่งที่คุณอยากรู้
- ตารางหรือแผนภูมิแสดงข้อมูลสถิติ
ภาพแสดงการค้นหาคำว่า “White Label” หรือสินค้าฉลากขาว ซึ่งบทความบน digitalbusinessconsult.asia ติด SEO ตำแหน่งการแสดงผลที่ 0
ภาพแสดงการค้นหา “Best Whey Protein” ซึ่งมีการแสดงผล ตำแหน่งการแสดงผลที่ 0 แบบเป็นลิสต์รายการ
ทำไมตำแหน่ง Position 0 ถึงมีค่ามากมาย?
เมื่อทำความรู้จักกับตำแหน่งการแสดงผลที่ 0 เป็นครั้งแรก ผู้เขียนและนักการตลาดดิจิทัลต่างมีความกังวลไปในทิศทางเดียวกันว่า ฟังก์ชันนี้ดีต่อผู้บริโภคในแง่ของการได้รับข้อมูลอย่างสะดวกและรวดเร็วก็จริง แต่อาจไม่ได้เป็นผลดีกับเจ้าของเว็บไซต์หรือนักการตลาดมากนัก เพราะผู้คนบางส่วนอาจจะได้ข้อมูลที่ต้องการแล้วทันทีตั้งแต่หน้าแสดงผลการค้นหา (SERP) ส่งผลให้ไม่คลิกเข้ามาดูในเว็บไซต์ อาจเป็นผลเสียต่อ Traffic ของเว็บไซต์ได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กลัวกลับไม่เป็นความจริง เพราะจากการพิสูจน์พบว่า ตำแหน่ง Position 0 มีส่วนช่วยปรับปรุงให้สถิติบนเว็บไซต์ดีขึ้นมาก ทั้งการเข้าชมเว็บไซต์ ค่าเปอร์เซ็นต์ Click-Through Rate (CTR) และ Conversion ต่าง ๆ
นอกเหนือจากนั้น การติด SEO ในตำแหน่งการแสดงผลที่ 0 นี้ยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์/แบรนด์ให้กับองค์กรหรือธุรกิจของคุณ เนื่องจากเป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญรอบรู้ในด้านนั้น ๆ สามารถตอบสนองต่อคำถามหรือความอยากรู้ของลูกค้าได้ดีที่สุดเหนือคู่แข่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถืออีกต่อหนึ่ง
แนวทางปรับปรุง SEO เพื่อไขว่คว้าการแสดงผลตำแหน่งที่ 0
คุณสามารถทำการปรับปรุง SEO และสร้างโอกาสในการทำให้หน้าเว็บไซต์ของคุณขึ้นตำแหน่งการแสดงผลที่ 0 ได้ (หรืออย่างน้อยก็ติดการค้นหาในหน้าหรือลำดับแรก ๆ) ด้วยการทำ Content อย่างเล็งเป้าให้ตรงตามความต้องการอยากรู้ของผู้บริโภค ซึ่งมีแนวทางดังนี้
- เสิร์ชส่องโอกาสติดตำแหน่งการแสดงผลที่ 0
ในขั้นตอนแรก คุณควรทดลองพิมพ์คีย์เวิร์ดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรหรือธุรกิจของคุณลงใน Search Engine และคัดเลือกคีย์เวิร์ดเพื่อนำมาใช้โฟกัสทำ SEO ต่อที่มีลักษณะ
- เสิร์ชแล้วมี Feature Snippet ขึ้น เพราะไม่ใช่ทุกคำที่เสิร์ชจะมีการแสดงผลตำแหน่งที่ 0 ปรากฏขึ้น อาจจะโฟกัสเป็นวลีหรือคำที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นองค์ประกอบใน Feature Snippet ก็ได้เพื่อเป็นทางเลือก
- ติดอันดับผลการค้นหาในลำดับที่ดีอยู่แล้ว แสดงว่าคุณมี Potential ในการทำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับด้านนั้น ๆ ได้ดี เพราะเนื้อหาที่มีคุณภาพมักจะชนะใจผู้อ่านและส่งผลต่อลำดับในการแสดงผลบน Search Engine เสมอ
- ผลิตเนื้อหาคุณภาพเพื่อคว้าชัย
ทางลัดในการทำ SEO ที่ประสบความสำเร็จนั้นไม่มีอยู่จริง อย่างไรคุณก็ต้องผลิตเนื้อหาบนหน้าเว็บไซต์ที่มีคุณภาพ มีส่วนช่วยเหลือ หรือตอบโจทย์ในสิ่งที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอยากรู้ โดยเนื้อหาที่ติด SEO ได้ดีควรเป็นแบบ
- ยาวกว่าคือดีกว่า เพราะมีการใช้คีย์เวิร์ดหลายครั้งอย่างเหมาะสม ไม่เป็น Spam แต่ต้องผลิตเนื้อหาที่เข้าใจง่ายและเป็นภาษามนุษย์ด้วย
- เอเวอร์กรีน (Evergreen Content) เลือกหัวข้อในการเขียนเรื่องราวแบบที่ไม่ตกยุคง่าย ไม่ใช่หัวข้อที่เปลี่ยนแปลงตามการเวลาอย่างรวดเร็ว มีโอกาสที่ผู้ใช้งาน Search Engine จะค้นหาอยู่เรื่อย ๆ
- ตัวล่อ snippet โดยพยายามสร้างเนื้อหาที่สามารถตอบคำถามที่คนอยากรู้ได้ใน Block เดียวกันของเนื้อหา สมบูรณ์ได้ด้วยตัวเอง เช่น การระบุคีย์เวิร์ดและความหมายไว้ในย่อหน้าเดียว การทำลิสต์ Bullet Point หัวข้อแบบติดกัน 1-10 แล้วค่อยอธิบายทีหลังแบบแยกแต่ละหัวข้อด้านล่าง เป็นต้น
- ลงเนื้อหาโดยคำนึงถึง SEO บนเว็บไซต์
นอกเหนือจาก Content ที่ดี การลง Publish เนื้อหาบนเว็บไซต์โดยเอื้อให้โปรแกรม/แพลตฟอร์มสามารถค้นหาและเก็บข้อมูลได้ง่ายขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องคำนึงถึงจุดต่าง ๆ ดังนี้
- เชื่อมโยง Keyword บนหัวเรื่องและ Meta Description
- สร้าง H1-H5 Tag ให้กับหัวข้อของคุณ ช่วยให้ Search Engine เข้าใจโครงสร้างเนื้อหาของคุณมากขึ้น
- เขียน Alt Tag ที่เกี่ยวข้องกับ Keyword ให้กับรูปภาพของคุณ
- อย่าลืมลิงก์เนื้อหาถึงกัน
การสร้างลิงก์ระหว่างหน้าเว็บไซต์ภายในของคุณ และเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียภายนอก (ตลอดจนแพลตฟอร์มต่าง ๆ) มีประโยชน์หลายประการ
- Internal Link ลิงก์ภายในเว็บไซต์ไปยังเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ช่วยสร้าง Traffic เพิ่มเติมบนเว็บซึ่งส่งผลต่อลำดับการแสดงผลบน Search Engine
- External Link ลิงก์ไปยังเนื้อหาภายนอกเว็บไซต์ ช่วยสร้าง Traffic ออกจากเว็บไซต์ เป็นประโยชน์ในแง่ของการเชื่อมโยง ตรวจจับ และกระโดดไปมาของ Bot/Crawler ของ Search Engine บนเว็บไซต์ ยิ่งมีการไหลเวียนของข้อมูลเข้าออกเว็บไซต์ของคุณมากเท่าไหร่ยิ่งมีโอกาสในการพัฒนาอันดับของการแสดงผลการเสิร์ชมากขึ้นเท่านั้น (แสดงว่าเว็บไซต์มีคุณภาพ) นอกจากนั้น ผู้ใช้งาน Search Engine มีแนวโน้มชอบเนื้อหาที่ลึกลงไป สร้างความน่าเชื่อถือให้กับเนื้อหาเพราะมีที่มาที่ไปและเชื่อมโยงกับเนื้อหาอื่น แถมคุณเองก็มีโอกาสที่จะได้รับการลิงก์เชื่อมกลับมายังเว็บไซต์ของคุณด้วยเช่นกันอย่างเป็นมิตร
สรุปแล้ว SEO เชื่อมโยงกับการทำ Content Marketing เป็นหลัก โดยมุ่งเน้นให้เว็บไซต์ติดอันดับการค้นหาของ Search Engine นั่นเอง โดยการทำเนื้อหาให้สามารถติด Position 0 ได้ก็คือสุดยอดแห่งความสำเร็จในการทำ SEO แล้ว หากธุรกิจหรือแบรนด์ใดสามารถทำได้ (โดยเฉพาะใน Keyword ที่มีการแข่งขันสูงและส่งผลตรงไปยังยอดขายได้) รับรองว่ามีประโยชน์ตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุนลงแรงแน่นอน