โน้มน้าวผู้บริโภคไม่ได้? บอกอะไรออกไปแล้วผู้บริโภคไม่ฟังใช่ไหม? ลองกลยุทธ์ ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ แล้วหรือยัง?
การตลาดดิจิทัล หรือ Digital Marketing เป็นวงการที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นด้านเครื่องมือทางการตลาดปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมและเพิ่มลดฟังก์ชันการใช้งานอยู่ตลอดเวลา เทรนด์การตลาดต่าง ๆ ที่ไม่หยุดนิ่ง ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้อาชีพนักการตลาดดิจิทัล (Digital Marketer) เป็นอาชีพที่มีความท้าทาย ต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และต้องอัปเดตให้ตนเองทันกระแสอยู่ตลอด
คุณสมบัติสำคัญของนักการตลาดดิจิทัล ก็คือต้อง “อิน” กับสายงานนั่นเอง
เมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค นักการตลาดดิจิทัลต้องยอมรับเลยว่า ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันฉลาด เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์และการโฆษณาออนไลน์มากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก และหันมาเชื่อถือการบอกต่อจากคนอื่น ๆ ในสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าสื่อโฆษณาชักชวน หรือการสื่อสารจากแบรนด์เองโดยตรง แม้แต่การโปรโมตสินค้าผ่านอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) หรือการบอกต่อจากเซเลบริตี้คนดังที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ก็ขาดความน่าไว้วางใจ เพราะผู้บริโภคเชื่อว่าในหลาย ๆ กรณี ดาราเหล่านี้ต่างได้รับค่าจ้างเพื่อให้โปรโมทสินค้าหรือบริการเป็นการตอบแทน จึงไม่ได้เป็นการบอกต่ออย่างแท้จริงหรือจริงใจผ่านการใช้หรือทดลองใช้งานจริง … ดังนั้น การโปรโมตสินค้าผ่านไมโครอินฟลูเอนเซอร์ เป็นอีกหนึ่งคอนเซ็ปต์/เครื่องมือ/กลยุทธ์ทางการตลาดที่กำลังได้รับความสนใจ ควรค่าแก่การเรียนรู้และทดลองใช้งาน (และอาจเป็นคุณค่าที่คุณคู่ควร)
ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ คืออะไร?
ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (Micro Influencer) คือ หน่วยย่อยของ อินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิด/ผู้นำทางความคิด ซึ่งนักการจะตลาดมักจะใช้ประโยชน์จากอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าแบบเนียน ๆ ในรูปแบบของการเล่าเรื่อง บอกต่อของดี ใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์จนผู้ติดตามรู้สึกคุ้นเคยและอยากทดลองใช้ตาม เป็นต้น โดยพยายามไม่ขัดต่อวิถีชีวิตประจำวันหรือการเสพสื่อออนไลน์ของผู้บริโภค
การวิจัยจาก Nielsen พบว่า 90% ของผู้บริโภคมีความเชื่อถือต่อการแนะนำสินค้าและบริการจากเพื่อน ในขณะที่มีเพียง 33% ที่เชื่อถือต่อสื่อโฆษณาปกติ เพราะได้ผลอย่างนี้นี่เอง จึงทำให้แบรนด์ดังหลาย ๆ เจ้าต่างก็ลดงบประมาณการโฆษณาสินค้าและบริการตามปกติมาเป็นงบในการทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์กันมากขึ้น
อินฟลูเอนเซอร์ สามารถแบ่งออกเป็นหลายระดับโดยสัมพันธ์กับจำนวนของผู้ติดตาม ดังนี้
- ดารา/เซเลบริตี้ (Celebrities) มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน
- มาโครอินฟลูเอนเซอร์ (Macro Influencer / Peer Influencer) มีผู้ติดตาม 100,000 – 1 ล้านคน
- ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (Micro Influencer) มีผู้ติดตาม 1,000 – 10,000 คน
นอกจากนั้นยังมีการพูดถึงแนวคิดเกี่ยวกับ นาโนอินฟลูเอนเซอร์ (Nano Influencer) หรือผู้นำทางความคิดที่มีผู้ติดตามไม่ถึง 1,000 คนเพิ่มเติมขึ้นมาอีกด้วย ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับไมโครอินฟลูเอนเซอร์มากในหลายมิติ เราจึงขอมัดรวบเป็นประเภทเดียวกันครับ
สื่อดิจิทัลสมัยใหม่ สื่อสังคมออนไลน์ และความสามารถในการสร้างสรรค์เนื้อหาด้วยตนเองของบุคคลทั่วไป (User-Generated Content) ส่งผลให้เกิด ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ขึ้น เพราะใคร ๆ ก็เป็นผู้สื่อสารและสร้างสารได้
ข้อได้เปรียบของ ไมโครอินฟลูเอนเซอร์
จากข้อมูลการจัดประเภทของอินฟลูเอนเซอร์ข้างต้น ทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญกับไมโครอินฟลูเอนเซอร์? ทั้ง ๆ ที่พวกดาราเซเลป และมาโครอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังต่างก็มีผู้ติดตามจำนวนมากกว่า เมื่อโปรโมตสินค้าหรือบริการผ่านอินฟลูเอนเซฮร์เหล่านี้น่าจะมีผู้พบเห็นในวงกว้าง และน่าจะมีอิทธิพลต่อความคิดของคนหมู่มากกว่าไม่ใช่หรือ? ICDL Thailand มีคำตอบครับ
- “อิทธิพล” เฉพาะเรื่องที่เหนือกว่า
ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ ก็คือบุคคลธรรมดา ๆ ที่มีผู้ติดตามประมาณ 1,000 – 10,000 คน มักมีความเชี่ยวชาญหรือความสนใจอย่างเฉพาะเจาะจงในด้านใดด้านหนึ่ง และเนื่องจากไม่ใช่บุคคลดังในกระแส ผู้ที่เลือกติดตามพวกเขาก็จะมีความสนใจในเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อแบรนด์เลือกโปรโมตสินค้าหรือบริการผ่านไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (ที่เหมาะสม) ก็จะมีแนวโน้มที่จะสื่อสารไปยังกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องและตรงกลุ่มเป้าหมาย (Niche Target) มากกว่าการพยายามหว่านแห สื่อสารผ่านอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก แต่เป็นกลุ่มคนที่มีความสนใจหลากหลายสะเปะสะปะมากกว่า
นอกจากนั้น ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามจำนวนไม่มากยังให้ความรู้สึก “จริงและจับต้องได้” มากกว่าอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ผู้ติดตามมีแนวโน้มที่จะเลือกเชื่อไมโครอินฟลูเอนเซอร์ที่มีลักษณะไลฟ์สไตล์และสถานะที่ใกล้เคียงกับพวกเขามากกว่า
- ผู้ติดตามมีส่วนร่วมสูง
การศึกษาพบว่า เมื่ออินฟลูเอนเซอร์เริ่มมีผู้ติดตามจำนวนมากเกินจุดหนึ่ง (มากกว่า 10,000 คน) การมีส่วนร่วมโดยรวมของผู้ติดตามพวกเขาจะเริ่มลดน้อยถอยลง ไม่ว่าจะเป็นคอมเมนต์ ไลก์ และทุก ๆ อย่างในหน้าโซเชียลมีเดีย การมีส่วนร่วมของผู้ติดตามมีอิทธิพลต่อความรู้สึกเป็นชุมชน (Sense of Community) ความสัมพันธ์ต่อตัวอินฟลูเอนเซอร์ และแนวโน้มการเชื่อถือต่อสินค้าหรือบริการที่โปรโมตโดยอินฟลูเอนเซอร์ด้วยเช่นกัน
อินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามน้อยกว่า 10,000 มีอัตราการมีส่วนร่วมอย่างน้อย 4.9% สูงกว่าอินฟลูเอนเซอร์ประเภทอื่น ๆ ที่มีจำนวนของผู้ติดตามมากว่า
- ราคาไม่เจ็บปวด
แน่นอน ค่าใช้จ่ายในการจ้างให้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ช่วยโปรโมทสินค้าหรือบริการย่อมถูกกว่าการจ้างดารา
ไมโครอินเฟลูเอนเซอร์ยังมีผู้ติดตามไม่มาก จึงเน้นสร้างให้ชุมชนออนไลน์เติบโตขึ้นมากกว่าการใช้แอคเคาท์ของพวกเขาเป็นช่องทางในการหารายได้ แถมการโปรโมตสินค้าหรือบริการผ่านไมโครอินโฟลูเอนเซอร์เป็นการสร้างโปรไฟล์ความน่าเชื่อถือให้พวกเขาเสียด้วยซ้ำ ว่ามีแบรนด์ไว้ใจมาให้ลงเนื้อหาช่วยโปรโมต แสดงถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญ เรตราคาการจ้างวานให้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์โปรโมตสินค้าหรือบริการจึงไม่แพง และคุณอาจมีงบประมาณเหลือสำหรับการจ้างไมโครอินฟลูเอนเซอร์หลาย ๆ คนเพื่อกระจายโอกาสในการมองเห็นและรับรู้ต่อสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้นในวงกว้างอีกด้วย
How to เลือกไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (ให้ตรงกับสินค้าและบริการ)
- สะกดรอยผู้ที่ติดตามคุณ เพื่อตามหาไมโครอินฟลูเอนเซอร์ที่ใช่ ลองทำตัวเป็น Stalker ไล่ดูหลังบ้านว่าคนที่ติดตามคุณเขาติดตามใครหรืออะไรอยู่บ้างสิครับ เพราะหากคนพวกนี้ชื่นชอบเนื้อหาที่โพสต์อยู่บนหน้าฟีตของโซเชียลมีเดียของคุณจนกดติดตามแล้ว นั่นย่อมหมายความว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะสนใจในสินค้าและบริการจากคุณ ลองดูว่าคนพวกนี้มีความสนใจร่วมอะไร เช่น ชื่นชอบอะไร ติดตามเพจ บุคคล หรืออินฟลูเอนเซอร์คนไหนบ้าง นอกจากจะเป็นกระบวนการหาไมโครอินฟลูเอนเซอร์เพื่อทำการตลาดต่อไปแล้ว ยังช่วยให้ได้ข้อมูลลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุงการสื่อสารการตลาดของแบรนด์อีกทางหนึ่งด้วย
- ส่อง #แฮชแท็ก เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดเพื่อตามหาไมโครอินฟลูเอนเซอร์สำหรับแบรนด์ของคุณ เสิร์ชแฮชแท็กโดยใช้คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่คุณพยายามจะโปรโมต เพื่อดูว่ามีใครที่กำลังพูดถึงเรื่องนี้อยู่บ้างบนโลกโซเชียลมีเดีย และคัดเลือกคนที่โอเคเหมาะจะเป็นไมโครอินฟลูเอนเซอร์ให้กับคุณออกมา อย่าลืมทดลองเสิร์ชด้วยคีย์เวิร์ดที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นด้วยเพื่อดูตลาดและค้นหาอินฟลูเอนเซอร์เฉพาะทางที่เหมาะกับสินค้าหรือบริการของคุณ เช่น หากคุณขายเสื้อผ้าผู้หญิงพลัสไซส์ การเสิร์ช #เสื้อผ้า ก็เพิ่มเข้าไปเป็น #เสื้อผ้าคนอ้วน เป็นต้น
ลองพิจารณาดูว่าสินค้าหรือบริการที่คุณมีหรือต้องการนำเสนอนั้น เหมาะกับไมโครอินฟลูเอนเซอร์คนไหน และด้วยราคาที่ไม่แพง คุณสามารถเลือกโปรโมตสินค้าผ่านไมโครอินฟลูเอนเซอร์หลายคน เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสารได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพสูงสุด
บอกแล้วไม่เชื่อ ถ้าบอกลูกค้าแล้วเขาไม่เชื่อ ก็ต้องลองไมโครอินฟลูเอนเซอร์ จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ต้องลองทำดูแล้วล่ะครับ
สนใจหลักสูตรอบรมการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) สามารถอินบ๊อกซ์หาเราได้ที่นี่เลย! ICDL Thailand by DBC